วันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

สินค้าอันตรายตามกฎหมายศุลกากร (Hazardous goods under the customs laws)

ที่มา มาตรา 6(6) แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469  "เพื่อให้การจัดเก็บอากรสำหรับสินค้าอันตรายเป็นไปโดยสอดคล้องกับความปลอดภัยในการขนถ่ายหรือการเก็บรักษาสินค้าในเขตศุลกากรแห่งใดแห่งหนึ่ง เมื่ออธิบดีได้หารือกับผู้รับผิดชอบประจำท่าหรือที่หรือสนามบินที่เป็นเขตศุลกากรแห่งนั้นแล้ว ให้มีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดชนิดหรือประเภทของสินค้าอันตรายและวิธีการเก็บอากรของสินค้าดังกล่าว ตลอดจนกำหนดเงื่อนไขในการขนถ่าย การเก็บรักษาสินค้าและการนำสินค้านั้นออกไปจากเขตศุลกากรแห่งนั้น ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง"
1. สินค้าอันตรายตามกฎหมายศุลกากร
ความนัยมาตรา 6(6) นี้ได้เพิ่มโดย พ.ร.บ. ศุลกากร (ฉบับที่ 14.2534 พร้อม ๆ กับมาตรา 61 ว่าด้วยของตกค้างที่เป็นสินค้าอันตราย และมาตรา 63 ทวิ มาตรการดำเนินการกับสินค้าอันตราย องค์ประกอบของสินค้าอันตรายตามกฎหมายศุลกากรมีดังนี้

เหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ. ศุลกากร (ฉบับที่ 14.2534 คือ โดยที่ในปัจจุบันได้มีการนำสินค้าจำพวกเคมีภัณฑ์ สิ่งมีพิษ หรือสิ่งที่เป็นอันตรายอย่างอื่นเข้ามาในราชอาณาจักร และนำมาเก็บรักษาไว้ในเขตศุลกากรเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจเกิดอันตรายหรือความเสียหายต่อบุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์สินหรือสิ่งแวดล้อมขึ้นได้ สมควรกำหนดวิธีการเก็บภาษีอากรสำหรับสินค้าอันตราย ตลอดจนเงื่อนไขในการขนถ่าย การเก็บรักษาสินค้า และการนำสินค้าออกไปจากเขตศุลกากรขึ้นโดยเฉพาะ เพื่อให้มีกานำสินค้าเหล่านั้นออกไปจากเขตศุลกากรได้โดยรวดเร็วและเหมาะสมกับสถานที่เก็บรักษาสินค้าดังกล่าว นอกจากนี้ สมควรกำหนดมาตรการดำเนินการกับของตกค้างที่เป็นสินค้าอันตรายและของเสียและเรือที่นำของดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักรให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โลกในช่วงปี พ.ศ. 2523 2533 ต้นทุนการใช้จ่ายของการกำจัดของเสียอันตรายในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการลักลอบทิ้งของเสียอันตราย ทำให้ในช่วงปี 2529 2532 เกิดการบรรทุกกากของเสียอันตรายจากกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมไปทิ้งในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและยุโรปตะวันออก สำหรับประเทศไทยพบว่าในปี 2531 เกิดเหตุการณ์การระเบิดของถังบรรจุไดเมโทเอท (dimethoate) แล้วเกิดเพลิงลุกไหม้สารเคมีในโกดังสินค้าอันตราย (ภายในโกดังเก็บสารเคมีไว้หลายชนิด)ท่าเรือกรุงเทพ การท่าเรือแห่งประเทศไทย และต่อมาปี 2534 ยังเกิดไฟไหม้คลังสินค้าอันตราย ณ ท่าเรือกรุงเทพ อีกครั้ง มีผู้เสียชีวิต 6 ราย บาดเจ็บ 16  ราย มูลค่าเสียหายรวมทั้งสิ้นประมาณ 150 ล้านบาท (ฐานข้อมูลความรู้ความปลอดภัยด้านสารเคมี: 2555) จากเหตุการณ์ทั้งสองจะเห็นว่าเกิดขึ้นในระหว่างการเก็บสินค้านั้น ๆ ขณะอยู่ในอารักขาศุลกากร ซึ่งสินค้านำเข้าทั่วไปสามารถเก็บได้ถึง 2 เดือนกับ 15 วันตามมาตรา 61 ก่อนที่จะเป็นของตกค้าง ฉะนั้น เพื่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และเพื่อให้การจัดเก็บอากรสำหรับสินค้าอันตรายเป็นไปโดยสอดคล้องกับความปลอดภัยในการขนถ่ายหรือการเก็บรักษาสินค้าในเขตศุลกากร ในปี พ.ศ. 2534 จึงได้กำหนดให้มีมาตรการในการดำเนินการกับสินค้าดังกล่าวใน 2 มาตรการ กล่าวคือ
(1) มาตรการล่นระยะเวลาการเก็บรักษาสินค้าอันตรายลง หรือที่เรียกว่า “สินค้าอันตรายตามกฎหมายศุลกากร” โดยให้อำนาจอธิบดีประกาศกำหนดชนิดหรือประเภทของสินค้าอันตราย ผลก็คือจะต้องนำออกจากเขตศุลกากรภายใน 5 วันสำหรับของที่ทำใบขนสินค้าขนถ่ายข้างลำ (OVERSIDE) และภายใน 7 วันสำหรับกรณีอื่น นับแต่สินค้าอันตรายอยู่ในอารักขาของศุลกากร ถ้าพ้นกำหนดแล้วสินค้าอันตรายนั้นก็จะตกเป็นของตกค้างทันที โดยผลของบทบัญญัติมาตรา 61 วรรคหนึ่ง (1)
สินค้าอันตรายตามกฎหมายศุลกากร ได้มีประกาศกำหนดชนิดและประเภทไว้ 2 ฉบับ
(1.1) ชนิดหรือประเภทของสินค้าอันตรายเป็นไปตามบัญชีในภาคผนวก ท้ายประมวลระเบียบปฏิบัติฯ ข้อ 2 02 03 07 รวม 204 รายการ (เดิมคือประมวลฯ ข้อ 02 05 20 ตามคำสั่งทั่วไปกรมฯ ที่ 19/2535 ลงวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2535)
(1.2) ของเสียจากเรือที่นำเข้ามาเพื่อบำบัดหรือกำจัด ซึ่งเกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานตามปกติของเรือที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรตามประเภทย่อย 2710.99.00, 3825.50.00 และ 3825.90.00 ทั้งนี้ เพื่อให้การบำบัดหรือจำกัดของเสียจากเรือเป็นไปอย่างถูกวิธี ป้องกันมิให้มีการนำของเสียจากเรือไปทิ้งทะเล อันเป็นเหตุให้เกิดมลพิษต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม ประกอบกับเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากเรือ ค.ศ.1973 และพิธีสาร ค.ศ.1978 (International Convention for the Prevention of Pollution from Ships, 1973, as modified by the Protocol of 1978 relating Thereto: MARPOL) ตามที่ประเทศไทย โดยกระทรวงการต่างประเทศได้ลงนามเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาและมีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งกำหนดให้ท่าเรือต่าง ๆ ต้องจัดบริการอุปกรณ์รองรับของเสียจากเรืออย่างเพียงพอ โดยมิให้เรือต้องเสียเวลารอเกินความจำเป็น แนวทางปฏิบัติกรมศุลกากร ตามประมวลระเบียบปฏิบัติฯ ข้อ 1 04 01 45 (คำสั่งทั่วไปกรมฯ ที่ 13/2546, ประกาศกรมฯ ที่ 33/2546 และ คำสั่งทั่วไปกรมฯ ที่ 23/2552 กับประกาศกรมฯ ที่ 77/2552)
(2) มาตรการการผลักดันส่งกลับออกไปหรืองดการใช้ท่าเรือ ในกรณีที่ของตกค้างเป็นของเสียที่อาจก่อให้เกิดอันตรายหรือความเสียหายต่อบุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์สิน หรือสิ่งแวดล้อม อธิบดีมีอำนาจสั่งให้ผู้รับผิดชอบท่าเรือหรือสนามบินแห่งหนึ่งแห่งใดหรือทุกแห่งในประเทศ ดำเนินการโดยพลันให้ตัวแทนของเรือที่นำของเสียเข้ามานำของเสียนั้นออกไปนอกราชอาณาจักร หรืองดการให้ใช้ท่าเรือหรือสนามบินและบริการต่าง ๆ แก่เรือลำนั้นหรือเรืออื่น ๆ ทั้งหมดของเจ้าของเรือลำนั้นได้ตามระยะเวลาที่จะกำหนดตามความร้ายแรงแห่งการกระทำ ตามความในมาตรา 63 ทวิ
อย่างไรก็ตามปัญหาการลักลอบนำของเสียอันตรายไปทิ้ง หรือกำจัดทำลายในประเทศด้อยพัฒนา ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม ทำให้โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP)  ร่วมกับผู้แทนจากประเทศสมาชิก ได้จัดทำอนุสัญญาบาเซล ว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายของเสียอันตรายข้ามแดนและการกำจัด (Basel Convention  on the Control of Tran boundary  Movements of Hazardous Wastes and their Disposal) ขึ้นในปี พ.ศ. 2532 เพื่อกำหนดข้อตกลงระหว่างประเทศในการควบคุมการนำเข้า การส่งออก  การนำผ่าน พร้อมทั้งการจัดการของเสียอันตรายให้มีความปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเป็นการป้องกันการขนส่งที่ผิดกฎหมาย อนุสัญญาบาเซลฯ ได้เปิดให้ประเทศต่าง ๆ ลงนามเข้าร่วมเป็นภาคีได้ ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2533   และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่  5 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเมื่อ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 และอนุสัญญามีผลบังคับใช้ต่อไทย ตั้งแต่ 22 กุมพาพันธ์ พ.ศ. 2541
ปัจจุบันกรมโรงงานอุตสาหกรรม อาศัยอำนาจตามความใน พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ประกาศให้ของเสียอันตรายตามอนุสัญญาดังกล่าว รวม 66 รายการ เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ที่ต้องควบคุมการนำเข้า และกรมการค้าต่างประเทศ อาศัยอำนาจตามความใน พ.ร.บ. ควบคุมการส่งออกไปนอกและการนำเข้าในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2546 ประกาศให้ยางรถที่ใช้แล้วเป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร
2. แนวทางปฏิบัติกรมศุลกากรเกี่ยวกับสินค้าอันตราย
กำหนดไว้ตามประมวลฯ ข้อ 2 02 03 07 ว่าด้วย วิธีปฏิบัติแก่ "สินค้าอันตราย" ดังนี้
(1) ชนิดหรือประเภทของสินค้าอันตรายเป็นไปตามบัญชีแนบท้ายคำสั่งนี้
(2) วิธีการเก็บอากรของสินค้าอันตรายกระทำได้ 3 วิธี
(2.1) ทำใบขนสินค้าขนถ่ายข้างลำ (OVERSIDE) โดยให้ทำพิธีการศุลกากรชำระภาษีอากรได้ก่อนเรือเข้าสำหรับท่า หรือที่ หรือสนามบินที่เป็นเขตศุลกากรแห่งนั้นไม่ปลอดภัยในการนำเข้าเก็บในโรงพักสินค้า
(2.2) ทำใบขนสินค้าล่วงหน้าโดยต้องมีใบตราส่งแนบมาด้วย และผู้นำของเข้าต้องเขียนตัวอักษรหรือประทับตรา "ล่วงหน้า" ไว้ตอนบนของใบขนสินค้าต้นฉบับและคู่ฉบับ การชำระอากรจะกระทำได้หลังจากเรือที่นำของตามใบขนสินค้านั้นมาถึงแล้วเท่านั้น โดยต้องสำแดงวันนำเข้า และเลขที่ใบตราส่งสินค้าไว้ในใบขนสินค้า และในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงพิกัดอัตราอากร หรืออัตราแลกเปลี่ยน ผู้นำของเข้าต้องแก้ไขให้ถูกต้องก่อน
(2.3) ทำใบขนสินค้าตามปกติ สำหรับสินค้าอันตรายที่มีภาชนะบรรจุปลอดภัยหรือท่า หรือที่ หรือสนามบินนั้นปลอดภัยในการนำเข้าเก็บในโรงพักสินค้า หรือจะทำการตรวจปล่อยที่ทำเนียบท่าเรือโดยไม่นำเข้าเก็บในโรงพักสินค้า กรณีผู้รับผิดชอบประจำท่า หรือที่ หรือสนามบินที่เป็นเขตศุลกากรแห่งนั้นเห็นได้ว่ามีสถานที่ที่มั่นคง ปลอดภัยสำหรับเก็บสินค้าอันตรายและสินค้าอันตรายนั้นมีภาชนะบรรจุที่ปลอดภัย หรือมีปริมาณเล็กน้อยเห็นได้ว่าจะไม่เกิดอันตรายในการเก็บในโรงพักสินค้า
(3) เงื่อนไขในการขนถ่าย การเก็บรักษา และการนำสินค้าอันตรายออกไปจากเขตศุลกากร
(3.1) การขนถ่ายสินค้าอันตราย
(3.1.1) ทำใบขนสินค้าขนถ่ายข้างลำ (OVERSIDE) เป็นการขนถ่ายจากเรือที่มาจากต่างประเทศลงเรือฉลอมหรือรถยนต์เลยทีเดียวไม่ต้องนำเข้าเก็บในโรงพักสินค้า
(3.1.2) ทำใบขนสินค้าล่วงหน้าก่อนเรือเข้า กรณีผู้รับผิดชอบประจำท่าหรือที่ หรือสนามบินที่เป็นเขตศุลกากรแห่งนั้น  เห็นได้ว่า  มีสถานที่ที่มั่นคงปลอดภัยสำหรับเก็บสินค้าอันตรายและสินค้าอันตรายนั้นมีภาชนะบรรจุที่ปลอดภัย  หรือมีปริมาณเล็กน้อยเห็นได้ว่าจะไม่เกิดอันตรายในการเก็บในโรงพักสินค้าในขณะที่เรือทำการขนถ่ายสินค้าอันตรายลงจากเรือ  จะต้องควบคุมดูแลให้สินค้าอันตรายที่ขนถ่ายลงจากเรือลง ณ ทำเนียบท่าเรือ   โดยให้ยื่นคำร้องขอต่อหัวหน้าศุลกากรประจำโรงพักสินค้านั้นๆ เพื่อพิจารณาอนุมัติก่อนการขนถ่ายหรือนำเข้าเก็บในโรงพักสินค้า
(3.1.3) ทำใบขนสินค้าตามปกติในขณะที่เรือทำการขนถ่ายสินค้าอันตราย จะต้องควบคุมดูแลให้การนำของดังกล่าวที่ขนถ่ายลงจากเรือเข้าเก็บในโรงพักสินค้า   หรือสถานที่ที่มั่นคงปลอดภัยสำหรับเก็บสินค้าอันตรายที่มีภาชนะบรรจุที่ปลอดภัย หรือมีปริมาณเล็กน้อยเห็นได้ว่า ไม่มีอันตรายในการเก็บรักษา
(3.2) การเก็บรักษาสินค้าอันตราย
ให้ผู้รับผิดชอบประจำท่าหรือที่หรือสนามบินที่เป็นเขตศุลกากรแห่งนั้นดำเนินการเก็บสินค้าอันตรายกรณีนอกเหนือจากข้อ (2.1) โดยขนถ่ายของดังกล่าวจากเรือและนำเข้าเก็บในโรงพักสินค้าที่มั่นคงปลอดภัย ในการเก็บสินค้าอันตรายสำหรับท่าหรือที่หรือสนามบินศุลกากรแห่งนั้นโดยปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของกรมศุลกากร และสินค้าอันตรายนั้นต้องมีภาชนะบรรจุที่ปลอดภัยหรือมีปริมาณเล็กน้อยเห็นได้ว่า ไม่มีอันตรายในการเก็บรักษาในโรงพักสินค้าดังกล่าว
(3.3) การนำสินค้าอันตรายออกไปจากเขตศุลกากร
สินค้าอันตรายต้องนำออกจากเขตศุลกากรภายใน 5 วันสำหรับของที่ทำใบขนสินค้าขนถ่ายข้างลำ (OVERSIDE) และภายใน 7 วันสำหรับกรณีอื่น นับแต่สินค้าอันตรายอยู่ในอารักขาของศุลกากร ถ้าพ้นกำหนดแล้วสินค้าอันตรายนั้นก็จะตกเป็นของตกค้าง โดยผลของบทบัญญัติมาตรา 61 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 ซึ่งได้บัญญัติขึ้นโดยพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 14) .. 2534 มาตรา 4


สงวนลิขสิทธิ์
โดย ดร.สงบ สิทธิเ้ดช
Dr.Sangob Sittidech
10.02.2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สารบัญรวมบทความทั้งหมด

ที่ดินบ้านสวน 1 งาน ท่ามกลางธรรมชาติในโครงการโกลเด้นโฮมเชียงแสนฯ ผ่อนสบาย ๆ เดือนละหมื่นกว่าบาท 24 เดือน ได้เป็นเจ้าของทันที   สนใจติ...