ผ่อนสบาย ๆ เดือนละหมื่นกว่าบาท 24 เดือน ได้เป็นเจ้าของทันที สนใจติดต่อด่วน
มองการวิจัยให้ถึงแก่น: ศาสตร์แห่งการวิจัย
(Research Methodology Part I)
2009, 21 February
ดร.สงบ สิทธิเดช
dr.sangob@yahoo.co.th
- บทความเรื่อง “มองการวิจัยให้ถึงแก่น” ศาสตร์แห่งการวิจัย เป็นเรื่องเกี่ยวกับระเบียบวิธีวิจัย (Research Methodology) ซึ่งเนื้อหาหลักส่วนหนึ่งมาจากการบรรยายของท่าน ดร.แสวง รัตนมงคลมาศ ภาค 1 ปีการศึกษา 2536 ณ สถาบันเทคโนโลยีสังคม (เกริก) ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นการสอนที่มีคุณค่า จึงอยากจะให้แนวคิดของท่านได้รับการเผยแพร่ต่อไป โดยเฉพาะท่านอาจารย์ได้สอนให้รู้จักการทำวิจัยให้เป็นเรื่องง่าย หากแต่ต้องมองให้ถึงแก่นแท้ของการวิจัย หรือศาสตร์แห่งการวิจัยในเรื่องของรูปธรรมและนามธรรมนั่นเอง
- การวิจัย (Research) หมายถึง การกระทำของมนุษย์เพื่อค้นหาความจริงในสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่กระทำด้วยพื้นฐานของปัญญา ความมุ่งหมายหลักในการทำวิจัย ได้แก่การค้นพบ การแปลความหมาย และการพัฒนากรรมวิธีและระบบสู่ความก้าวหน้าในความรู้ด้านต่างๆ ในเชิงวิทยาศาสตร์ที่หลากหลายในโลกและจักรวาล การวิจัยอาจต้องใช้หรือไม่ต้องใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ก็ได้ (วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)
- การวิจัย หมายถึง กระบวนการค้นคว้าหาข้อเท็จจริงหรือปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ อย่างมีระบบและมีจุดมุ่งหมายที่แน่นอน เพื่อให้ได้ความรู้ที่เชื่อถือได้ (แสวง รัตนมงมาศ, 2536)
- การวิจัย คือ การค้นหาข้อเท็จจริงเพื่อนำมาตอบปัญหาที่ตั้งไว้
- ปัญหา ในการวิจัยคือช่องว่างระหว่างความคิดกับความเป็นจริง หรือความอยากรู้ในสิ่งที่คิด (ความสงสัย) กับสิ่งที่เป็นจริง (ข้อเท็จจริง) ว่าจะสอดคล้องกันหรือไม่เพียงใด (ความสงสัยนี้กับข้อเท็จจริงมาพบกัน ทำให้หมดช่องว่าง ได้คำตอบซึ่งถือเป็นความรู้ใหม่)
- ตัวอย่าง ปัญหาเกิดขึ้นในระบบความคิด แต่ผู้คิดไม่รู้ว่าในความเป็นจริงเป็นอย่างไร เช่น มนุษย์รู้แล้วว่าโลกกลม แต่สงสัยว่าดวงจันทร์มีลักษณะกลมเหมือนโลกหรือไม่ ความสงสัยนี้เกิดขึ้นในระบบความคิด เมื่อนักดาราศาสตร์ให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับภาพเงาของดวงจันทร์ปรากฏบนดวงอาทิตย์ซึ่งเป็นเส้นโค้ง ความสงสัยนี้กับข้อเท็จจริงก็มาพบกัน ทำให้หมดช่องว่าง ได้คำตอบซึ่งถือเป็นความรู้ใหม่
- เมื่อนักวิจัยเกิดปัญหาขึ้น บางครั้งอาจคาดคะเนคำตอบเอาไว้แล้วในระบบความคิด คำตอบที่คาดไว้นั้นคือสมมุติฐานของการวิจัย
- จะเห็นได้ว่า กระบวนการวิจัย ก็คือการเชื่อมโยงระบบความคิดกับระบบข้อเท็จจริงเข้าด้วยกัน โดยอาศัยเทคนิควิธีการต่างๆ ของศาสตร์เข้าช่วย (สุภางค์ จันทวานิช, 2539 หน้า 2-3)
- สรุปความสัมพันธ์ของควาามรู้ ปัญหาและการวิจัย (ดูภาพที่ PowerPoint)
- ความหมายการวิจัย คือ กระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริง (Fact) และความจริง (Reality) ในหลายมิติ ประกอบกันเป็นสัจธรรม (Truth) สามารถวัดได้ (Measurable) สังเกตได้ (Observe) อย่างเป็นนามธรรม เพื่อนำมาตอบกับคำถาม โจทก์ กรอบคิดกับ นามธรรมที่ตั้งไว้ หรือเพื่อค้นหาข้อสรุปนามธรรม กฎเกณฑ์จากรูปธรรมที่ศึกษา การแสวงหาข้อเท็จจริงอย่างเป็นระบบความจริงทางวิทยาศาสตร์
ความสัมพันธ์ของทฤษฎีกับการวิจัย
- ความสัมพันธ์ของทฤษฎีกับการวิจัยนั้น มีลักษณะเป็นหัว – ก้อยของเหรียญ ซึ่งหมาย ความว่า ทฤษฎีที่จะถือว่าเป็นทฤษฎีที่น่ายอมรับได้เชื่อถือได้สักแค่ไหนเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถในการที่จะมีข้อเท็จจริงมาสนับสนุนได้อย่างเที่ยงตรง และกว้างขวางสักแค่ไหนเพียงใด ความสัมพันธ์ในลักษณะนี้จะเห็นได้ว่าทฤษฎีต้องพึ่งการวิจัย
- การที่ทฤษฎีต้องพึ่งการวิจัย ถ้าจะอธิบายในภาษาวิจัยแล้วก็หมายถึง การวิจัยนั้นเป็นการช่วยสร้างให้ทฤษฎีหรือแนวความคิดที่ให้ไว้เป็นทฤษฎีนั้น ไม่ปลอดไปจากข้อเท็จจริง ทั้งนี้ กรอบแนวความคิดทางทฤษฎีที่ปลอดจากข้อเท็จจริงนั้นถือว่าว่างเปล่า หรือไม่มีความหมายแก่อย่างใด เพราะฉะนั้น ในแง่กลับกัน ถ้าหากว่าการวิจัยนั้นเป็นเพียงแต่การค้นหาข้อเท็จจริงเฉยๆ โดยปลอดจากการมีแนวความคิดที่แน่นอนและชัดเจน การค้นหาข้อเท็จจริงที่ได้มานั้นก็ไร้ค่า เปรียบเหมือนกับการให้คนตาบอดคลำช้าง ซึ่งจะไม่มีการรู้แน่ว่าคืออะไร
- การพิจารณาถึงความสัมพันธ์ของทฤษฎีกับการวิจัย ในแง่ของกระบวนการวิจัย ก็จะเห็นได้ว่า ทฤษฎีมีความสำคัญและจำเป็นต่อการวิจัยทุกขั้นตอน
- 1. การกำหนดปัญหา โดยเริ่มจากนับแต่ได้ตั้งแต่จุดกำเนิดของปัญหาที่ทำการวิจัย ถ้าปราศจากเสียซึ่งแนวความคิดทางทฤษฎี ปรากฏการณ์ที่มีอยู่ก็ไม่มีทางกำเนิดเป็นปัญหาขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้น การใช้แนวความคิดทางทฤษฎีในขั้นตอนนี้จึงเป็นการใช้ในลักษณะช่วยจับปัญหาที่จะทำการวิจัย แม้จะจับปัญหาในการทำวิจัยได้แล้วก็ตามแต่ภาพที่จับได้นั้น ยังอาจไม่ชัดเจน-แน่นอนที่จะดำเนินการในขั้นต่อไปได้ จำเป็นต้องใช้แนวคิดทฤษฎีเข้ามาช่วยปรับภาพที่จับได้ให้ชัดเจน-แน่นอนยิ่งขึ้น ซึ่งในที่นี้ภาษาวิจัยเรียกว่าเป็นการไตร่ตรองแนะความคิดให้แน่นอน ชัดเจน ภายใต้ปัญหาที่จะทำการวิจัย
- 2. การตั้งสมมุติฐาน แม้ว่าจะสามารถจับปัญหาได้ และสามารถปรับภาพปัญหาให้แน่นอนชัดเจนได้โดยวิธีเอาทฤษฎีเข้ามาช่วยก็ตาม แต่การค้นหาข้อเท็จจริงภายใต้ปัญหานั้นๆ ในรูปลักษณะของตัวแปรต่างๆ โดยการตั้งเป็นสมมุติฐานในขั้นต่อมา ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงการใช้ทฤษฎีในขั้นตอนนี้ นอกจากจะเป็นการช่วยกำหนดลู่ทางการค้นหาถึงความสัมพันธ์ของตัวแปรต่างๆ ภายใต้ปัญหานั้นแล้ว ยังช่วยสร้างภาพที่จะทดสอบถึงความสัมพันธ์ของตัวแปรต่างๆ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของการนำไปทดสอบในการค้นหาถึงความสัมพันธ์มากยิ่งขึ้น กล่าวคือ เป็นการช่วยเหลือให้สมมุติฐานที่ตั้งขึ้นมานั้น เป็นสมมุติฐานที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการยอมรับในแนวความคิดที่จะทดสอบได้ และมีระดับองศาที่จะได้รับการพิสูจน์ยืนยันจากข้อเท็จจริงได้สูงยิ่งขึ้น
- 3-4. การเก็บรวบรวมข้อมูล -การวิเคราะห์และแปรผลข้อมูล เมื่อผ่านกระบวนการเก็บเกี่ยวการกำหนดแนวความคิดทางทฤษฎีในการวิจัยของส่วนนี้ไปแล้ว ต่อไปก็เป็นเรื่องของการเลือกกำหนดวิธีการทางวิทยาศาสตร์ มาใช้ในการดำเนินการรวบรวมข้อมูล ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องของการกำหนดประชากร และกลุ่มตัวอย่าง การเลือกใช้เครื่องมือในการเก็บข้อมูล ตลอดจนการวิเคราะห์ข้อมูลที่จัดเก็บมาได้ ซึ่งในกระบวนการขั้นเหล่านี้แม้จะเป็นเรื่องของวิธีการส่วนใหญ่ก็ตามแต่ วิธีการเหล่านั้นเลือกมาอย่างไรและใช้อย่างไรนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับแนวความคิดในทางทฤษฎีของการศึกษาวิจัยภายใต้ปัญหานั้นเป็นหลักในการพิจารณา
- 5. การสรุป และในท้ายที่สุดของกระบวนการวิจัยนั้น ก็คือ การเขียนรายงานเสนอผลงานวิจัย ซึ่งเท่ากับเป็นภาคผนวกเอาข้อเท็จจริงต่างๆ ที่ได้มา วิเคราะห์ควบคู่กันไปกับแนวความคิดในทางทฤษฎีที่ตั้งไว้ตั้งแต่ตอนต้นของการทำวิจัย เพราะฉะนั้น ในส่วนนี้แนวความคิดทางทฤษฎีที่มีไว้แต่เดิมจึงต้องถูกนำใช้ในบั้นปลายที่สุดอีกครั้ง ซึ่งจะเกิดผลเป็นอย่างไรนั้น ย่อมแล้วแต่ข้อเท็จจริงที่ค้นพบมาเป็นเครื่องมือพิจารณากำหนดผลสรุปในปัญหาเรื่องนั้น
ที่มาของทฤษฎี
- ทฤษฎีมีที่มา 2 แนวทาง คือ
- 1. ทฤษฎีที่มาจากกระบวนการทาง Inductive
- 2. ทฤษฎีที่มาจากกระบวนการทาง Deductive
- ทฤษฎีที่มาจากกระบวนการทาง Inductive คือ ทฤษฎีที่มาจากรูปธรรมที่เกิดขึ้นแล้วสรุปเป็นนามธรรม-กฎเกณฑ์ ดังนี้
- “เรียนรู้ปรากฏการณ์ - สรุปเป็นประสบการณ์บทเรียน - จัดระบบความเป็นเหตุเป็นผลของกลุ่มความคิด - ตั้งสมมุติฐาน - ตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อเท็จจริง - ตั้งเป็นทฤษฎีหรือกฎเกณฑ์ ซึ่งจะเป็น Local – theory, Ground – theory”
- ทฤษฎีที่มาจากกระบวนการทาง Deductive คือ จากข้อสรุปนามธรรมไปสู่รูปธรรมข้อเท็จจริง แล้วจึงมาตั้งเป้นกฎเกณฑ์ ดังนี้
- “ข้อสรุปนามธรรม - ตั้งสมมุติฐาน - ตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อเท็จจริง - ตั้งเป็นทฤษฎีหรือกฎเกณฑ์ ซึ่งจะเป็น Middle – range theory, Grand – theory”
- ภาพสรุปที่มาของทฎษฎี (ดูภาพที่ PowerPoint)
- ศาสตร์ (Science) คือ องค์ความรู้ (A body of knowledge) หรือเป็นความรู้ที่ได้จัดเป็นระบบ (A systematic knowledge) ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่อาจได้รับจากประสบการณ์และบทเรียน หรือได้รับจากการศึกษา ถ่ายทอด
- ความรู้ที่ได้รับจากประสบการณ์บทเรียน จะเน้นความรู้ในด้านข้อเท็จจริงรูปธรรม (Factual – Concrete knowledge) ส่วนความรู้ที่ได้จากการศึกษาถ่ายทอดจะเน้นในด้านนามธรรมธรรม-กฎเกณฑ์ (Abstract – Rule)
- ดังนั้น สรุปได้ว่า “ความรู้” มี 2 ด้าน
- 1. ความรู้ในเชิงข้อเท็จจริง - รูปธรรม (Factual – Concrete) คือความรู้ในเชิงประจักษ์ สามารถสังเกตได้ (Observable) สัมผัสได้ หรือวัดได้ (Measurable) ซึ่งเป็นความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ หรือจากการเรียนรู้
- ตัวอย่าง ท้องฟ้ามือครึ้ม ปกคลุมด้วยเมฆดำทมึน มีฟ้าแบและเสียงฟ้าร้องจะเป็นสัญญาว่าฝนตก
- 2. ความรู้ในเชิงนามธรรม – กฎเกณฑ์ (Abstract – Rule) คือคือความรู้ทางด้าน ความคิด (Idea) ที่เชื่อมโยงกันโดยอิงระบบตรรก (Reasoning) หรือเป็นความคิดด้านจินตนาการที่เชื่อมโยงกันด้วยระบบตรรก เป็นระบบเหตุผล ความโน้มเอียงของความรู้ด้านนี้จะได้มาจากการศึกษาเป็นหลัก
- ตัวอย่าง ความยากจน เกิดจาการกดขี่ เกิดจากศักดินาจักรวรรดินิยม
- อีกแง่หนึ่งของความรู้ ไม่ว่าจะเป็นความรู้เชิงนามธรรม – กฎเกณฑ์ หรือเชิงข้อเท็จจริง – รูปธรรม จะเกี่ยวข้องกับ ระเบียบวิธีวิทยา (Methodology of science) ซึ่งหมายถึงการได้มาซึ่งองค์ความรู้นั้น (Concept behind tools) เพราะถ้าไม่ยอมรับที่มาขององค์ความรู้นั้น ศาสตร์นั้นก็ไม่เป็นที่ยอมรับ
- เมื่อศาสตร์ประกอบไปด้วยความรู้ 2 ด้าน จึงมีความสำคัญต่อกัน เมื่อขาดด้านใดด้านหนึ่งจะเป็นความรู้ที่ไม่สมบูรณ์ ดังคำกล่าวที่ว่า
- “ถ้าเรารู้เพียงรูปธรรม แต่ไม่รู้นามธรรม – กฎเกณฑ์ ก็เหมือนเราตาบอด” (Perception without Conception is blind)
- “ถ้าเรารู้เพียงนามธรรม – กฎเกณฑ์ แต่ไม่รู้รูปธรรม สิ่งที่เรารู้ก็ว่างเปล่า” (Conception without Perception is empty)
- ความรู้เชิงรูปธรรม: จุดอ่อน คือ ข้อจำกัดของเวลา คนทุกคนไม่สามารถที่จะผ่านประสบการณ์เพื่อให้เกิดบทเรียนได้ทั้งหมด และความสามารถในการสรุปบทเรียนของแต่ละคนต่างกัน อาจสรุปได้ไม่เหมือนกัน บางคนสรุปได้เร็ว บางคนสรุปได้ช้า หรือด่วนสรุป บางครั้งสรุปถูกบ้าง ผิดบ้าง หรือยึดติดกับประสบการณ์ทำให้คับแคบ จุดแข็ง คือ ความสามารถปฏิบัติได้ มีโอกาสสอดคล้องกับความจริงสูง
- ความรู้เชิงนามธรรม-กฎเกณฑ์: จุดอ่อน คือ มีโอกาสว่างเปล่าสูง จุดแข็ง คือ สามารถย่นระยะเวลาของการเรียนรู้ได้ (ทฤษฎีสังคม, 2534 หน้า 5-6)
การวิจัยในฐานะเครื่องมือของศาสตร์
- ถ้าจะกล่าวอย่างง่ายๆ ว่า ศาสตร์คือองค์ความรู้หนึ่งที่ประกอบด้วยหลักเหตุผลและข้อเท็จจริงทั้งสองด้านอยู่ด้วยกัน นักวิทยาศาสตร์ หรือนักวิชาการในสังกัดของศาสตร์แขนงใดแขนงหนึ่ง ก็คือ ผู้ที่มีความสามารถยึดกุมได้ทั้ง หลักเหตุผลและข้อเท็จจริง ดังนั้น การเป็นนักวิทยาศาตร์ ไม่ว่าจะเป็นด้านวิทยาศาสตร์ธรรมขาติ หรือวิทยาศาตร์สังคม จึงหมายถึงผู้ที่มีความรู้ด้านการใช้หลักเหตุผลและข้อเท็จจริงควบคู่กันไป ถ้าหย่อนด้านใดด้านหนึ่งก็จะถือว่าหย่อนความเป็นนักวิทยาศาตร์ลงไป
- จากลักษณะสองด้านของศาสตร์ หรือของนักวิทยาศาตร์ดังกล่าว จึงทำให้คนทั่วไป หรือคนส่วนใหญ่มักจะขาดคุณสมบัติที่จะเป็นเหมือนกับเขาทั้งนี้ เพราะสามัญชนส่วนใหญ่แม้จะมีประสบการณ์ หรือผ่านข้อเท็จจริงมามาก แต่จะขาดหลักเหตุผลหรือแนวคิดที่จะมองข้อเท็จจริงนั้นเป็นระบบเกี่ยวเนื่องและกว้างออกไป ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่ผ่านการศึกษาอบรมในเชิงหลักเหตุผลหรือการใช้เหตุผล ซึ่งจะเรียกว่าเป็นผู้ผ่านการเรียนรู้ทฤษฎีและ/หรือแนวคิดต่างๆ ก็ได้นั้น ถ้ามีลำพังแต่พลังทางเหตุผลด้านเดียวแต่หย่อน หรือไม่มีด้านข้อเท็จจริงรับรองเหตุผลเหล่านั้น ก็จะทำให้เหตุผลที่คิดหรือที่พูดเป็นสิ่งที่เลื่อนลอย เพ้อเจ้อไปในที่สุด ทั้งนี้ เพราะความรู้ในเชิงแนวคิดด้านเหตุผลที่เป็นนามธรรม ถ้าปราศจากรูปธรรมหรือข้อเท็จจริงรองรับก็คือความว่างเปล่า ขณะเดียวกัน ความรู้ในเชิงรูปธรรมที่มาจากประสบการณ์หรือข้อเท็จจริงล้วนๆ และในด้านเดียวโดยปราศจากความรู้หรือข้อสรุปในเชิงนามธรรมที่ใหญ่กว่า ก็คือ ความตาบอด ดังเช่นกรณีความรู้ของคนตาบอดคลำช้าง เป็นต้น ดังนั้น ความรู้ที่ถือว่าเป็นวิทยาศาสตร์จึงเป็นความรู้ที่ประกอบทั้งด้านทั้งในด้านเชิงนามธรรม และในด้านรูปธรรมควบคู่กันไป จะรู้เพียงด้านหนึ่งโดยเฉพาะไม่ได้ เพราะจะทำให้ความรู้นั้นขาดลักษณะสมเหตุสมผลและสมจริงที่นักวิทยาศาสตร์ทุกคนมีเป็นคุณสมบัติ
- สำหรับนักวิชาการทั่วไป โดยสภาพของการผ่านการอบรมและสภาพของอาชีพมักจะเป็นผู้รู้ในเชิงนามธรรมหรือคิดอะไรในเชิงนามธรรมอยู่สูง ดังนั้น สิ่งที่นักวิชาการจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็คือ การค้นหารูปธรรม ข้อเท็จจริงมารองรับความรู้ หรือความคิดที่คนมีอยู่ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันความว่างเปล่าไม่ให้เกิดขึ้น ขณะเดียวกันผู้ที่รู้รูปธรรมก็ควรจะพยายามค้นหาข้อสรุปจากนามธรรม เพื่อให้เกิดความกว้างไกลในการมองปัญหา หรือเพื่อพัฒนาความรู้เชิงนามธรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นการหลีกเลี่ยงความตาบอดดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
- วิธีการแสวงหารูปธรรมข้อเท็จจริง ภายใต้การมีแนวคิดหรือทฤษฎีอะไรอยู่ก่อนนั้น ถือว่าเป็นวิธีการทางวิทยาศาสตร์อย่างหนึ่งที่มีกฎเกณฑ์การดำเนินงานของมันอยู่ระบบหนึ่ง กฎเกณฑ์การดำเนินการแสวงหารูปธรรมรองรับนี้ เป็นกฎเกณฑ์ทางด้านเชิงปริมาณที่จะนำข้อมูลหรือข้อเท็จจริงด้านรูปธรรมต่างๆ เข้ามาช่วยสนับสนุนหรือตัดสินว่าแนวคิด หรือข้อสรุปนามธรรมที่มีอยู่หรือตั้งไว้นั้นถูกต้องหรือไม่มากน้อยเพียงใด กฎเกณฑ์เชิงปริมาณนี้เรียกว่าเป็นระเบียบวิธีวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Deductive Research) ที่อาศัยกระบวนการทางด้านอนุมาน (Deductive) เป็นหลักของการคิดและปฏิบัติ
- เมื่อการแสวงหารูปธรรมเพื่อนำมารองรับหรือสนับสนุนแนวคิดทางนามธรรม ถือว่าเป็นวิธีการของศาสตร์ หรือเป็นวิธีการทางวิทยาศาสตร์อย่างหนึ่ง ในทางกลับกันของการพยายามแสวงหาข้อสรุปในเชิงนามธรรมจากรูปธรรมต่างๆ ก็ต้องถือว่าเป็นวิธีการทางวิทยาศาสตร์อีกอย่างหนึ่งเหมือนกัน ซึ่งวิธีการทางด้านนี้อาศัยกฎเกณฑ์ หรือเทคนิควิธีของกระบวนการทางด้านอุปมาน (Inductive) ที่พยายามสรุปปริมาณสู่คุณภาพที่สูงขึ้น ดังนั้นการวิจัยในรูปแบบนี้ จึงมีผู้เรียกว่าเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Inductive Research) สาเหตุที่เรียกชื่อเช่นนี้ ก็เพราะเป็นการวิจัยเพื่อยกระดับข้อเท็จจริงด้านปริมาณต่างๆ เข้าสู่ด้านคุณภาพในระดับเป็นนามธรรมสูงขึ้นนั่นเอง การใฝ่หาระดับนามธรรมสูงขึ้นนี้ ถือว่าเป็นหน้าที่ที่สำคัญอย่างหนึ่งของนักวิทยาศาสตร์ที่จะทำให้ข้อสรุปเชิงนามธรรม ไม่ว่าจะอยู่ระดับข้อคิด แนวคิด สมมติฐาน และทฤษฎี ที่สร้างหรือตั้งขึ้นมานั้นมีพื้นฐานความเป็นจริงรองรับ หรือสนับสนุนอย่างเหนียวแน่นในทุกขั้นตอนของนามธรรมที่สรุปได้ ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการมีข้อคิด แนวคิด สมมติฐาน และ/หรือทฤษฎีที่ตั้งขึ้นมาอย่างลอยๆ จากหลักเหตุผลหรืออัตตวิจัยส่วนตัวของนักวิชาการหรือผู้วิจัยเพียงด้านเดียว ดังนั้น จากความเป็นจริงของการย้ำข้อมูลรูปธรรมดังกล่าว จึงทำให้การวิจัยในเชิงคุณภาพที่กระทำในลักษณะนี้ อาจมีชื่อเรียกเป็นอย่างอื่นได้อีก เช่น บางคนเรียกว่าเป็นวิธีการสร้างทฤษฎีจากพื้นฐาน เป็นต้น
- สรุปความสัมพันธ์ทฤษฎีกับการวิจัยและศาตร์
- ทฤษฎี + การวิจัย = สองด้านของเหรียญ
- ศาสตร์ = องค์ความรู้ (หลักเหตุผล + ข้อเท็จจริง)
- ทฤษฎี - นามธรรม - หลักเหตุผล - ความสมเหตุสมผล -ว่างเปล่า
- การวิจัย - รูปธรรม - ข้อเท็จจริง - ความสมจริง - ตาบอด
- ปัญหาในการวิจัย = ช่องว่างระหว่างความคิด (ความสงสัย) กับความเป็นจริง (ข้อเท็จจริง)
- ความรู้ใหม่ = ความคิด (ความสงสัย) VS ความเป็นจริง (ข้อเท็จจริง) - ช่องว่างหมดไป
- กระบวนการวิจัย = ระบบความคิด + ระบบข้อเท็จจริง - เทคนิควิธีการต่างๆ ของศาสตร์
- สมมุติฐานของการวิจัย = ตำตอบที่คาดคะเนไว้ล่วงหน้า
Copyright
by Dr.Sangob Sittidech
Update June 1, 2012